โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝนและสามารถพบโรคมือ เท้า ปากในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก เป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ถือได้ว่าเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย
อาการของโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปากจะมีระยะฟักตัว 2-3 วัน โดยอาการเริ่มต้นเด็กจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน คือ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน โดยหากอาการดีขึ้นจะสามารถหายจากโรคนี้ไปใน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามโรคมือ เท้า ปาก อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เหยื่อหุ้มสมองอักเสบ เหยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรืออัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก ซึ่งพ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเตือนของภาวะรุนแรง เช่น ซึมลง ไม่เล่น ไม่ทานอาหารหรือนม สับสน พูดเพ้อพูดจาไม่รู้เรื่อง ควรรีบนำมาพบแพทย์ทันที
ระยะแพร่เชื้อและการติดต่อ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการใน 7 วันแรกและหลังจากหายแล้ว พบว่ายังสามารถพบเชื้อได้ในอุจจาระได้อีก (ระยะประมาณ 2-3 สัปดาห์) โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ผื่นตุ่มน้ำใส และอุจจาระของผู้ป่วย เชื้ออาจจะแพร่กระจายโดยผ่านทางมือผู้ที่สัมผัสกัน เช่น การเปลี่ยนผ้าของเด็กเล็ก สารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส และสามารถติดต่อทางอ้อมจากการสัมผัสของเล่น อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว
โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน
การรักษาโรคมือ เท้า ปาก
ในปัจจุบันการรักษาโรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การรักษาจึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไปตามอาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ จะให้พยายามป้อนน้ำ นม อาหารอ่อน แนะนำให้ทานอาหารที่เย็น เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม เพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ให้ทานยาลดไข้แก้ปวด ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เป็นต้น
การป้องกัน
โรคนี้มักระบาดในเด็กเล็ก ซึ่งอยู่รวมกันในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงดูเด็ก เน้นเรื่องการล้างมือ ทำความสะอาดของเล่น ความสะอาดของน้ำดื่มและอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกันโดยเฉพาะ แก้วน้ำ ขวดนม ช้อน จานอาหาร ที่สำคัญควรให้เด็กที่ติดเชื้ออยู่บ้านไม่ควรให้ออกมาเล่นกับเด็กคนอื่นๆ เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ